“Livable Scape คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี” คอนเซ็ปต์ในการจัดเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ Bangkok Design Week 2024 (BKKDW2024) ซึ่งเป็นแก่นความคิดสำคัญที่ดึงดูดให้เราได้เข้าไปร่วมงานในครั้งนี้ ทำให้เราได้มองเห็นภาพรวม ได้ตกตะกอน รวมถึงได้ครุ่นคิดในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับ ‘เมือง’ ที่เราอาศัยอยู่ในชีวิตประจำวัน กอปรเป็นกระบวนการคิดที่ทำให้ตระหนักรู้ได้ว่า เราทุกคนมีส่วนสำคัญที่จะสร้างสรรค์เมืองของเราให้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น
“ถ้าช่วยกันลงมือทำ วันข้างหน้าเมืองจะยิ่งดี เรื่องสาธารณูปโภค ไลฟ์สไตล์ อาชีพ องค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้เกี่ยวข้องกันหมด ไม่ใช่แค่ออกแบบเมืองให้สวยแล้วมันจะน่าอยู่ เมืองสวยแต่ไม่สร้างรายได้ ไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่ดี ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก แบบนี้ก็ไม่ตอบโจทย์ เราอยากอยู่ในเมืองที่ทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งรายได้ การเดินทางที่สะดวก และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีได้” – บทสัมภาษณ์ใน bangkokdesignweek.com ของ คุณหมู นนทวัฒน์ เจริญชาศรี หัวเรือใหญ่แห่ง DUCTSTORE the design guru สตูดิโอออกแบบที่ขับเคลื่อนวงการกราฟิกไทยมากว่า 22 ปี ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบ Key Visual ประจำปีนี้ โดย Bangkok Design Week 2024 (BKKDW2024) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งมีไอเดียตั้งต้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับเมือง และนโยบายของกรุงเทพมหานครฯ เป็นโจทย์ให้นักออกแบบและคนทำงานสร้างสรรค์ในหลายสาขาอาชีพได้มีโอกาสมาโชว์ผลงานที่สอดคล้องไปกับการพัฒนาและแก้ไขปัญหาให้กับเมือง โดยในการจัดงานครั้งนี้จะอยู่ภายใต้การผสานแนวคิด Graphitecture หรือ Graphic + Architecture หรือการผสานมุมมองกราฟิก และสถาปัตยกรรมเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นเป้าประสงค์ของคุณหมูที่ต้องการจุดประกายให้คนทั่วไปมีแนวคิดพื้นฐานแบบ Creative Thinking กล่าวคือใช้ชีวิตอย่างเป็นปัจเจกและสร้างสรรค์ ซึ่งถ้าเราทุกคนเริ่มให้ความสำคัญกับความเป็นปัจเจกและใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์อยู่เสมอ เมืองของเราก็จะถูกพัฒนาให้เต็มไปด้วยความสร้างสรรค์มากขึ้น งาน Bangkok Design Week 2024 (BKKDW2024) ครั้งนี้จึงทำหน้าที่สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ผ่านเมือง เพื่อเชื้อเชิญทุกคนมาร่วมสร้าง Livable Scape ที่จะเป็นไปได้
BKKDW2024 เปิดกว้างต่อการจัดแสดงผลงานในหลายรูปแบบ เช่น การจัดแสดงงานออกแบบ เสวนา เวิร์กช็อป อีเวนต์ ดนตรีและการแสดง ฯลฯ โดยจัดขึ้นในพื้นที่ย่านต่างๆในกรุงเทพฯ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในคอนเซ็ปต์การพัฒนาเมืองให้เข้าถึงคนหมู่มากได้ โดยหลากหลายผลงานได้ถูกจัดแสดงขึ้นตามการตีความของเหล่านักออกแบบและแบรนด์ต่างๆ รวมกว่า 500 โปรแกรม ให้เข้าร่วมตามความสนใจ ทางเราขอหยิบยกบางโปรแกรมใน BKKDW2024 ครั้งนี้ มาเจาะลึกสารัตถะเพื่อส่งต่อแนวคิดให้ทุกคนได้เกิด Creative Thinking ตามเป้าประสงค์ของงานครั้งนี้
เริ่มต้นที่ความสร้างสรรค์ในการจัดแสดง “Charoen Krung Tone” โดย ชนาธิป หอมประทุม ศิลปินรุ่นใหม่ เจ้าของงาน Sticker Design ที่เป็นการนำเครื่องมือแทนค่าสีดิจิตัลอย่าง Pantone มาปรับใช้กับพื้นที่จริงในย่านเจริญกรุง ทำให้เราเกิดไอเดียเกี่ยวกับชุดสีที่เป็นภาพรวมของย่านแห่งนี้ รวมถึงมีภาพจำเรื่องวัสดุหรือพื้นผิวที่ปรากฏตามจุดต่างๆ ในย่านอีกด้วย “เจริญกรุงโทน” จึงทำให้เราได้สังเกตเห็นว่าในแต่ละย่านนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะของพื้นที่ เพราะถูกประกอบสร้างจากวัฒนธรรมการอยู่อาศัยที่แตกต่างของผู้คนตั้งแต่อดีตกาล
จากบทความวิจัย “รูปแบบสีขององค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม พื้นที่ย่านถนนบำรุงเมือง กรุงเทพมหานคร” โดย ธนสาร ช่างนาวา และ สันต์ จันทร์สมศักดิ์ นิสิตและอาจารย์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ระบุไว้ว่า “การรับรู้สีและความหมาย เกิดขึ้นพร้อมกันผ่านบริบททางวัฒนธรรม ดังนั้นการรับรู้สีจึงเป็นส่วนหนึ่งของการรับรู้อัตลักษณ์ของพื้นที่ นอกจากนี้ สียังเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการรับรู้อัตลักษณ์ และทำให้เกิดการจดจำ ซึ่งจะพบได้ในแถบยุโรปและเอเชีย โดยอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันในแต่ละเมืองจะสะท้อนรูปแบบสีที่แตกต่างกันด้วย ดังนั้นการพัฒนาภูมิทัศน์เมือง และการอนุรักษ์พื้นที่จึงต้องมีการวางแนวทางควบคุมรูปแบบสีขององค์ประกอบทางกายภาพให้สอดคล้องกับบริบททางวัฒนธรรมของพื้นที่” สิ่งเหล่านี้ทำให้เราได้นึกย้อนไปถึงสถาปัตยกรรมของย่านเจริญกรุง ตั้งแต่แรกเริ่มเดิมทีในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 ที่เริ่มตัดถนนเจริญกรุง ย่านนี้เคยเป็นย่านที่มีชาวตะวันตกอยู่อาศัยมากที่สุดของกรุงเทพฯ ส่งผลต่อสถาปัตยกรรมที่ทำให้ย่านเจริญกรุงเต็มไปด้วยกลิ่นอายตะวันตก และแม้จะกาลเวลาผ่านมายาวนาน ผ่านการเติมแต่งของศิลปะสมัยใหม่ แต่ร่องรอยของวัฒนธรรมจากอดีตที่หลงเหลือก็ทำให้เจริญกรุงยังคงเป็นย่านเก่าแก่ที่มีเสน่ห์เฉพาะตัวอยู่เสมอ
ต่อเนื่องจากการประกอบสร้างเชิงวัฒนธรรมที่ทำให้เกิดเป็นผลงานสุดสร้างสรรค์ จึงทำให้เราอยากกล่าวถึงการจัดแสดง “PDM Supervision 10 Year Anniversary Exhibition” โดย PDM สตูดิโอออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นที่รู้จักจากการผลิตเสื่อคุณภาพที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ และเป็นเวลากว่า 10 ปี ที่ PDM ได้พัฒนาสินค้าคุณภาพจนปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์มากกว่า 100 หน่วย ซึ่งมีที่มาแตกต่างกัน และยังได้มีโอกาสสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ร่วมกับแบรนด์ระดับชาติไปจนถึงระดับโลก
นิทรรศการจาก PDM ในครั้งนี้ เล่าเรื่องผ่านกล่องสีขาวที่วางเรียงรายเต็มพื้นที่ โดยแต่ละกล่องจะบรรจุผลิตภัณฑ์ และวัสดุของไอเดียนั้นๆ มาให้รับชมกัน เราจึงได้รับรู้ว่า นอกจากความเป็นผลิตภัณฑ์ Eco-Friendly แล้ว PDM ยังผลิตสินค้าแห่งวัฒนธรรมที่ถูกออกแบบให้ร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ Nap Pillow หรือหมอนขิดของภาคอีสาน งานเย็บมือโดยช่างฝีมือชาวยโสธรโดยเฉพาะ อีกทั้งยังมี Kyoto On The Floor Series เก้าอี้ที่ได้แรงบันดาลใจจากอาสนะของพระ ท้าทายการออกแบบที่ต้อง Transform ของใช้จากวัดเป็นของใช้ในบ้าน
หรือแม้กระทั่งผลิตภัณฑ์ All Dry Barrier Gate Clothes Rack ราวตากผ้าที่ได้แรงบันดาลใจมาจากรั้วกั้นของจราจรในประเทศไทย ที่นอกเหนือจากการเป็นราวตากผ้าแล้วยังทำหน้าที่เป็นรั้วกั้นทางได้อีกด้วย โดยผลิตภัณฑ์จาก PDM นั้นประยุกต์ใช้ได้กับคนทุกเพศวัย และเป็นกลางสำหรับตลาดโลก
งานดีไซน์จาก PDM สะท้อนถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์แบบ Cross-Cultural Design หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ดึงเอาวัฒนธรรมพื้นถิ่นมาเป็นหนึ่งในโจทย์ของการดีไซน์ และส่งต่อผลิตภัณฑ์สุดสร้างสรรค์โดยสามารถใช้ได้กับคนในวัฒนธรรมอื่นได้อย่างกลมกลืน การดีไซน์ผลิตภัณฑ์แบบ Cross-Cultural ได้ถูกคาดการณ์ไว้เมื่อนานมาแล้วว่าจะเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมในอนาคต จากการศึกษาการออกแบบผลิตภัณฑ์ของไต้หวัน พบว่า อุตสาหกรรมการออกแบบผลิตภัณฑ์ในไต้หวันนั้นสามารถก้าวไปสู่จุดของการเป็นผู้นำในเวทีการออกแบบผลิตภัณฑ์ระดับโลกได้ โดยหนึ่งในข้อได้เปรียบคือ ไต้หวันเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยผู้คนหลากหลายวัฒนธรรม จึงทำให้ทุกครั้งที่มีการออกแบบมักจะเกิดกระบวนการคิดที่เป็นการผสมผสานวัฒนธรรม ซึ่งสามารถเข้าถึงความชอบของคนทั่วไปได้อย่างดี ส่วนอีกหนึ่งงานวิจัย Cross-Cultural Product Design By Chen Zhang จากมหาวิทยาลัย Carleton ประเทศแคนาดา ระบุไว้ว่า นอกเหนือจากเรื่องของฟังก์ชั่น Cross-Cultural Product ไม่เพียงแค่สร้างประสบการณ์ในเชิงของความสวยงามอย่างเดียว แต่ยังตอบโจทย์ต่อภาวะ Nostalgia ของมนุษย์อีกด้วย ซึ่งเป็นการหวนรำลึกถึงความทรงจำดีๆ ที่ถูกบันทึกผูกติดกับผลิตภัณฑ์นั้นๆ อย่างแยบคาย
อย่างไรก็ดี เมื่อโลกของเราได้ก้าวสู่ยุคที่ทุกวัฒนธรรมสามารถเข้าถึงกัน และหลอมรวมกันได้อย่างรวดเร็ว จึงไม่น่าแปลกใจที่ Cross – Cultural Design นั้นจะเป็นที่นิยมเป็นวงกว้าง ซึ่งโจทย์ต่อไปของนักออกแบบผลิตภัณฑ์สมัยใหม่ คงไม่ใช่แค่เรื่องของดีไซน์และฟังก์ชั่น แต่ต้องครอบคลุมถึงปัจจัย หรือความต้องการที่เป็นภาพใหญ่ในระดับ Global
อีกหนึ่งโปรแกรมที่หลายคนให้ความสนใจสำหรับ BKKDW2024 คือ “The Openscape – Uniquely Together” by TAK & WG at Bangkok Design Week 2024 นิทรรศการเปิดโลกวัสดุจาก TAK & WG ผู้นำด้านธุรกิจวัสดุปิดผิวระดับพรีเมี่ยมที่คัดเลือกหลากแบรนด์ชั้นนำระดับโลกมาสู่ประเทศไทย ที่มาในธีม Unveil the Mystery of “The Openscape” จำลองการเปิดบานประตูเพื่อสร้างประสบการณ์การค้นหาตัวตน
พื้นที่นิทรรศการถูกเนรมิตให้มีกล่องขนาดใหญ่อยู่ตรงกลางสเปซ ซึ่งภายในกล่องจะมีประตูบานใหญ่ที่เปิดเข้าไปเจอกับพื้นที่ว่าง โดยทั้งสี่ด้านภายในกล่องจะเต็มไปด้วยแผ่น Metal Laminate รุ่น Reflective ซึ่งมีพื้นผิวที่ทำให้เกิดเงาสะท้อน จึงเห็น Object หลาย Object ประหนึ่งมีหลายมิติ โดยในส่วนด้านบนของกล่องถูกตกแต่งด้วยฟิล์มกระจกหลากสีที่แสงธรรมชาติสามารถส่องผ่านเข้ามาได้ ทำให้ทั้งพื้นที่ภายในถูกทาบด้วยสีสันที่เปลี่ยนไปทุกวินาทีโดยแสงธรรมชาติ ส่วนภายนอกกล่องจะมีประตูบานเล็กๆ ที่เมื่อลองเปิดจะเห็น Quote เชิงปรัชญาของการค้นหาตัวตน
ภาพรวมของงานนิทรรศการนี้ ได้ใช้การดีไซน์มาส่งมอบแก่นความคิดในการตีความ Surface Materials หรือพื้นผิววัสดุ กับความเป็นตัวตน กล่าวคือ พื้นผิวแต่ละประเภทจะมีความสวยงามหรือมีเสน่ห์ที่แตกต่างกัน บางประเภทแค่เห็นหรือได้สัมผัสก็สามารถจำได้ทันทีว่าเป็นพื้นผิวของอะไร โดยแต่ละประเภทนั้นก็มอบคุณประโยชน์ที่แตกต่างกันอีกด้วย ซึ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับมนุษย์แล้วนั้น เราต่างมีรูปลักษณ์ภายนอกที่ไม่เหมือนกัน เรามีความงามที่เป็นปัจเจก หรือเป็นอัตลักษณ์ ซึ่งเมื่อค้นหาตัวเองลงลึกไปสู่ภายในเราจะเห็นความงามในอีกหลากหลายมิติที่เราอาจจะยังไม่เคยค้นพบ นับเป็นอีกหนึ่งนิทรรศการที่ใช้การดีไซน์พาเราไปสู่โลกของปรัชญา
ส่วนโปรแกรมที่ดึงดูดสายตาหลายๆ คน แค่เดินผ่านก็เหมือนถูกเชื้อเชิญให้ไปลองเล่น นั่นคือ สนาม(ผู้ใหญ่)เล่น โดย เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย ที่ออกแบบโดย Imaginary Objects สตูดิโอออกแบบที่เน้น Experience ของผู้ใช้เป็นหลัก สนาม(ผู้ใหญ่)เล่น แห่งนี้เป็นงานดีไซน์แบบ Installation ขนาดใหญ่ที่ตั้งใจออกแบบให้เป็นเครื่องเล่น ติดตั้งเป็นแนวยาวอยู่บนลานกว้างสาธารณะใจกลางกรุงเทพฯ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Play heals” โดยเครื่องเล่นนี้ได้ถูกออกแบบมาเพื่อผู้ใหญ่โดยเฉพาะ ทั้งขนาดของเครื่องเล่นที่ดูมีพื้นที่กว้างขวาง และเรื่องวัสดุไม้ที่น่าจะดีไซน์มาเพื่อลดแรงกระแทก ภายในเครื่องเล่นมีทั้งสไลเดอร์ ปีนเขา บันได พื้นที่ต่างระดับ และพื้นที่นั่งชิลล์ ที่ดูเป็นทั้งเครื่องเล่นเพื่อสุขภาพและมอบความสนุกสนานให้ได้ในคราเดียว แต่แม้ว่าจะถูกออกแบบมาเพื่อคนวัยผู้ใหญ่ แต่เด็กๆ ก็สามารถมาเอ็นจอยได้เช่นกัน
หลักสำคัญของเครื่องเล่นนี้ คือการเติมพลังใจให้บุคคลวัยผู้ใหญ่ที่ห่างหายจากคำว่า “เล่น” มานาน เนื่องด้วยการใช้ชีวิตการทำงานในเมืองที่มีแต่ความเร่งรีบวุ่นวาย ให้กลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะ และให้ได้รู้สึกถึงความมีชีวิตชีวาที่เคยมี ปลุกพลังงานความเป็นเด็กของตัวเองให้กลับมาวิ่งเล่นอีกครั้ง ดังนั้น Intergenerational Design จึงสำคัญในโอกาสนี้
Intergenerational Design เป็นแนวคิดการออกแบบที่คำนึงถึงผู้คนในสิ่งแวดล้อมแบบองค์รวม ส่วนหนึ่งของแนวคิดนี้ถูกนำไปใช้กับการจัดการสเปซที่ต้องมีการใช้สอยร่วมกันระหว่างคนหลายเพศวัย อย่างเช่น ภายในบ้านมักจะมีพื้นที่ที่สามารถนั่งเล่นร่วมกันได้ระหว่างคนต่างวัยอย่างคุณยาย และหลานตัวน้อย เหล่านี้คือการนำการออกแบบมาสร้างสรรค์ต่อยอดเพื่อให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ พื้นที่ หรืออาคารที่พักอาศัย ที่สามารถมอบประโยชน์สูงสุดกับผู้ใช้งาน ซึ่งแนวคิด Intergenerational Design นั้นถูกให้ความสำคัญมากขึ้น จากการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปของผู้คนในยุคปัจจุบันที่มีความอิสระในความต้องการของตัวเอง มีไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายมากขึ้นกว่าในสมัยก่อน เรียกได้ว่าแนวคิด Intergenerational Design จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มี Cultural Change หรือการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมในสังคม
ยังมีการจัดแสดงในรูปแบบของนิทรรศการภาพถ่ายที่เราให้ความสนใจ เพราะการดีไซน์ในโปรแกรมนี้อยู่ที่การนำเสนอแก่นความคิดของแต่ละภาพ ที่ใช้เทคนิคสะท้อนภาพจากแผ่นพลาสติกพื้นผิวคล้ายกระจกเพื่อทำให้เกิดมุมมองใหม่ และในการเดินรับชมนิทรรศการ เราสามารถนำแผ่นพลาสติกดังกล่าวมาสะท้อนภาพที่จัดแสดงอีกที เรียกว่า มิติในมิติ
โปรแกรมนี้ได้แก่ Bangkok Reflection : สะท้อนกรุง โดยสมัชชา อภัยสุวรรณ อดีตช่างภาพในวงการโฆษณาที่ผันตัวมาถ่ายภาพแนวสตรีทและเชิงสารคดี สำหรับนิทรรศการครั้งนี้ เขาเริ่มสแนปภาพในพื้นที่เจริญกรุงตามจุดต่างๆ ตั้งแต่ปี 2563 โดยใช้เทคนิคในการถ่ายจากการสะท้อนกระจก และมีการใช้ ProPhoto RGB ช่วยจัดการสีของภาพ ทำให้ภายในหนึ่งภาพมีทั้ง Object สีขาวดำ และ Object สีธรรมชาติ อีกทั้งภายในห้องที่จัดแสดงยังมีเสียงดนตรีที่ถูกดีไซน์โดย ศรุต บวรธีรภัค ที่ได้เดินบันทึกเสียงในพื้นที่จริงตามพิกัดที่ของภาพถ่ายแต่ละภาพ ทำให้เราได้รับรู้ว่า ‘เจริญกรุง’ ย่านเก่าแก่แห่งนี้ไม่เคยหลับเลย
โปรแกรมที่หยิบยกมาเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของงาน Bangkok Design Week 2024 (BKKDW2024) เท่านั้น ยังมีอีกหลากหลายโปรแกรมที่มาพร้อมคอนเซ็ปต์ของการดีไซน์ ซึ่งทุกๆ คนสามารถถอดรหัส และนำไปต่อยอดใช้ได้ในชีวิตประจำวัน หลังจากที่ผู้เขียนได้ลองครุ่นคิดกับกระบวนการผลิตของโปรแกรมต่างๆ ใน Bangkok Design Week 2024 ทำให้เห็นการพัฒนาของสิ่งต่างๆ ในบ้านเมืองและสังคมของเราอย่างชัดเจน ซึ่งมันไม่ใช่แค่ ‘บ้านเมืองเปลี่ยน คนเปลี่ยน’ แต่มันคือการเติบโตที่มีพัฒนาการในทุกๆ ระบบ
ยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเติบโตในยุคสมัยที่อะไรๆ ต่างพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง
ที่มา https://qoqoon.media/design/livable-scape-bangkok-design-week-2024/